สอนปรับแสงรูปอาหารให้สดใสน่าทาน! แนะนำ 8 ค่าแสงในแอปฯ แต่งรูป!

ปรับแสงรูปอาหารยังไงให้อาหารดูน่ากิน ลูกค้าอยากกดซื้อ! แนะนำ 8 ค่า ปรับแสงรูปอาหารแบบมือโปร เอาไปใช้กับกับทุกแอปแต่งรูป

สำหรับร้านอาหารเดลิเวอรีที่ขายบนแอปฯ LINE MAN แล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รูปภาพ คือ ปัจจัยแรก ๆ ที่ลูกค้าใช้ตัดสินใจเลือกซื้อ หากรูปอาหารของร้านสีสันสดใส โชว์ความสดหรือสีสันของอาหารออกมาได้เป็นอย่างดี ลูกค้าก็จะรู้สึกได้ว่า อาหารต้องอร่อยแน่ ๆ ในทางกลับกัน ถ้ารูปอาหารหรือขนมของร้านสีซีดจาง พร่าเลือน หรือถ่ายออกมาแล้วสีสันไม่น่ากินเท่าของจริง ลูกค้าอาจจะรู้สึกว่า อาหารที่ได้อาจจะไม่อร่อยก็ได้ 

เมื่อสีสันของอาหารมีผลต่อความรู้สึกของลูกค้าขนาดนี้ Wongnai for Business จึงอยากมาแชร์เทคนิคการแต่งรูปด้วยการปรับแสงรูปอาหารง่าย ๆ จะทำผ่านแอปฯ แต่งรูปแอปฯ ไหนก็ได้ เพียงเข้าใจ 8 ค่าหลักปรับแสงเหล่านี้ 

  1. การปรับความสว่างและค่าการเปิดรับแสง (Brightness & Exposure)
  2. การปรับอุณหภูมิของรูปภาพ (Temperature)
  3. การปรับความต่างของสี (Contrast & Tint)
  4. การปรับความสดของสี (Saturation)
  5. การเพิ่มความคมชัดให้ภาพ (Sharpness) 
  6. การปรับสมดุลของสีขาว (White Balance หรือ WB)
  7. การปรับส่วนมืดหรือเงาของภาพ (Shadow)
  8. การปรับส่วนสว่างของภาพ (Highlight)

1. การปรับความสว่างและค่าการเปิดรับแสง (Brightness & Exposure)

การปรับค่าความสว่าง (Brightness) หมายถึง การปรับความสว่างของทั้งภาพให้สว่างมากขึ้น เหมือนกับมีแสงเข้าทุกทิศทางของภาพ ใช้สำหรับการปรับภาพที่มืดให้สว่างขึ้น มักใช้ร่วมกันกับการปรับค่าอื่น ๆ เพราะการปรับเพียงค่าความสว่างจะทำให้ภาพดูซีดจาง ซึ่งไม่เหมาะกับภาพอาหาร

สำหรับการปรับค่าการเปิดรับแสง (Exposure) หมายถึง การปรับให้ภาพเหมือนรับแสงได้มากขึ้น ส่วนของภาพที่แสงเข้าอยู่ก่อนแล้วจะสว่างขึ้นมากกว่าส่วนที่แสงเข้าไม่ถึง หรือก็คือ แต่ละส่วนของภาพจะสว่างขึ้นไม่เท่ากัน การปรับค่าการเปิดรับแสงเพียงเล็กน้อยจะได้ภาพที่ดูธรรมชาติมากกว่า 

2. การปรับอุณหภูมิของรูปภาพ (Temperature)

การปรับอุณหภูมิของรูปภาพ หรือ Temperature หมายถึง การปรับโทนของรูปภาพให้ดูเย็นลงหรืออบอุ่นขึ้น โดยถ้าปรับค่า Temperature ลง โทนของรูปภาพจะดูเย็นลง แต่ถ้าปรับเพิ่มขึ้นรูปภาพจะแลดูอบอุ่นขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเป็นอาหารประเภทร้อน ของทอด มักจะปรับให้โทนภาพดูอบอุ่นขึ้น

3. การปรับความต่างของสี (Contrast & Tint)

การปรับความต่างของสี หรือ Contrast หมายถึง การปรับสีของรูปให้มีความแตกต่างกันมากขึ้น มักใช้แต่งภาพที่มีความซีดจาง ภาพดูกลืนกันไปหมด หรือใช้ปรับแก้ไขภาพ ตอนที่ปรับความสว่างแล้วทำให้รูปภาพซีดลง 

ส่วนการปรับ Tint จะหมายถึง การปรับแกนสีสองสี ได้แก่ สีเขียวและสีแดง/ชมพู ในกรณีที่ภาพของเราอาจจะติดแดง หรือติดเขียวมากเกินไป ก็ให้ปรับมาที่ฝั่งตรงกันข้ามก็จะช่วยให้ภาพดูกลมกลืนมากขึ้น

4. การปรับความสดของสี (Saturation)

การปรับความสดของสี หรือค่า Saturation หมายถึง การดึงความสดของสีในรูปภาพให้สดยิ่งขึ้น มักใช้ปรับรูปที่ค่อนข้างซีดเหมือนรูปภาพมีหมอก แสงของภาพไม่ค่อยอิ่ม สีสันไม่ค่อยสดใสมีชีวิตชีวา แนะนำสำหรับปรับของสด เช่น สลัด แซลมอนสด ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ เช่น เนื้ออบ คอหมูย่าง ฯลฯ

5. การเพิ่มความคมชัดให้ภาพ (Sharpness) 

การเพิ่มความคมชัด หรือ Sharpness หมายถึง การเพิ่มความเข้มของเส้นทำให้องค์ประกอบต่าง ๆ ในภาพดูคมชัดหรือแยกออกจากกันมากขึ้น ใช้สำหรับปรับภาพที่ซีดจางหรือองค์ประกอบต่าง ๆ ดูกลืนกันจนเกินไป ทำให้ภาพดูไม่น่าสนใจ 

เราสามารถเพิ่มความคมชัดให้กับภาพที่เพิ่มความสว่างจนองค์ประกอบของภาพเลือนรางลงได้

6. การปรับสมดุลของสีขาว (White Balance หรือ WB)

การปรับสมดุลของสีขาว หรือค่า WB (White Balance) หมายถึง การปรับให้สีขาวในภาพดูเป็นสีขาว ใช้สำหรับรูปภาพที่ได้ถ่ายติดแสงสีอื่นเยอะ เช่น สีแดง สีส้ม จากไฟร้านอาหารหรือบาร์ หรือแสงสีส้มที่ส่งผลให้รูปภาพดูเป็นสีอื่นและห่างไกลจากสีจริง 

การปรับ White Balance จะช่วยเกลี่ยให้ภาพมีสัดส่วนแสงสีขาวที่กลมกลืนขึ้น ลดแสงสีอื่นลง แนะนำสำหรับร้านที่ถ่ายรูปอาหารในร้านที่ไฟร้านเป็นสีส้มหรือสีอื่น ๆ ไม่ได้จัดไฟสำหรับการถ่ายรูป

7. การปรับส่วนมืดหรือเงาของภาพ (Shadow)

การปรับส่วนมืดหรือเงา หรือ ค่า Shadow ให้รูป หมายถึง การเพิ่มความมืดในส่วนที่มืดอยู่แล้วของภาพให้มืดขึ้นไปอีก ส่วนใหญ่เรามักจะใช้สำหรับทำให้ภาพดูโดดเด่นขึ้นมาจากพื้นหลังหรือจากเงา หรือใช้ลดรายละเอียดในส่วนที่แสงเข้าไม่ถึงให้ลดลง เพื่อให้คนดูภาพโฟกัสที่อาหารหรือวัตถุหลักมากขึ้น

8. การปรับส่วนสว่างของภาพ (Highlight)

การปรับส่วนสว่างของภาพ หรือเพิ่ม Highlight หมายถึง การปรับส่วนที่สว่างของภาพให้สว่างมากขึ้น ตรงกันข้ามกับการปรับเงาหรือ Shadow จึงมักใช้คู่กันเมื่อต้องการทำให้ส่วนที่อาหารหรือวัตถุโดนแสงโดดเด่นขึ้นมา

เทคนิคเพิ่มเติมสำหรับการปรับแสงรูปอาหาร

  • ภาพอาหารมักปรับแสงปรับสีให้ออกไปในโทนสีแดง เหลือง ส้ม เพราะเป็นสีที่ช่วยทำให้รู้สึกหิว อาหารน่ารับประทาน 
  • ส่วนใหญ่แล้ว โฆษณาอาหารมักจะใช้คู่สีส้ม-ดำ หรือสีโทนร้อนจับคู่กับสีดำ เพราะทำให้อาหารโดดเด่นน่าสนใจขึ้นมา
  • สำหรับของหวานที่ต้องการนำเสนอความนุ่ม ละมุน มักจะแต่งให้ภาพมีความฟุ้งขึ้นเล็กน้อย 
  • เครื่องดื่มเย็นมักจะปรับอุณหภูมิของภาพให้เย็นลง ดึงการเปิดรับแสงขึ้นเล็กน้อย หรือปรับแสงเพื่อให้เห็นความไอน้ำหรือหยดน้ำที่จับแก้วได้ชัดขึ้น

เจ้าของร้านอาหารคนไหนที่มองดูรูปเมนูในร้านแล้วรู้สึกว่า ยังมีรูปที่น่าจะปรับให้อาหารของเราน่าทานยิ่งขึ้น สวยและโดดเด่นมากขึ้น ลองเอาเทคนิคปรับแสงรูปอาหาร ทั้ง 8 ข้อนี้ ไปลองปรับดู รับรองว่า รูปอาหาร ของหวาน เครื่องดื่ม ของทางร้านจะสวยขึ้น และมีลูกค้าคลิกเข้ามาชมเยอะยิ่งขึ้นแน่นอน ยิ่งเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายอีกด้วย เพราะทุกรูปเมนูอาหารคือหน้าตาของร้านคุณ ทำให้ลูกค้าประทับใจตั้งแต่แรกเห็นได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ LINE MAN มีทางเลือกสำหรับร้านที่อยากได้ช่างภาพมืออาชีพช่วยร้านให้มีรูปปัง ๆ น่ากดสั่งทุกเมนู ขอแนะนำ “ชุดเจ้าของร้านมือใหม่” บริการถ่ายรูปเมนูอาหารและรูปหน้าปก ปั้นยอดปังด้วยช่างภาพมือโปร เสกรูปเมนูสวย ลูกค้าเห็นแล้วถูกใจกดสั่งในทันที! สมัครวันนี้ เริ่มต้นเพียง 2,200.- เท่านั้น พร้อมรับฟรี! ป้ายแบนเนอร์หน้าร้าน มูลค่า 599.- อย่ารอช้า สมัครเลย คลิก

เทคนิคเพิ่มยอดให้ร้าน LINE MAN ยังไม่หมด อ่านต่อที่นี่เลย!

แหล่งอ้างอิง

เทคนิค 'แต่งรูป' อาหาร ให้สวยแบบมือโปร ด้วย 7 ขั้นตอนง่าย ๆ

ต่อ ชานนท์ | Photography Tips & Reviews

แต่งรูป Lightroom สอนปรับรูป ใช้สำหรับแต่งอาหารให้น่าทาน โทนอาหาร ของกิน

พื้นฐานแต่งรูป “แสง” ในแอพ Lightroom

ความแตกต่างระหว่าง Hue Saturation และ Tint

Vibrance และ Saturation

เริ่มต้นเปิดร้านบน LINE MAN คลิกเลย