เทคนิคร้านอาหารขายดีด้วยการทำ Food Storytelling

หลายร้านอาจเข้าใจว่า แค่ทำอาหารให้อร่อยก็สามารถดึงดูดลูกค้าเข้ามาได้แล้ว แต่หากคนยังไม่ได้รู้จักร้าน ไม่ได้มีโอกาสเดินผ่านร้านแล้วได้กลิ่นอาหารอร่อย ๆ ไม่รู้ว่า เมนูที่ร้านอร่อยอย่างไร คงเป็นเรื่องยากที่เขาจะเข้ามาลอง

ถ้าอยากให้ลูกค้าอยากเข้ามาลิ้มลองเมนูของร้านเรา เราต้องรู้จักวิธีการ “เล่าเรื่องให้อร่อย” หรือทำ Food Storytelling เพื่อดึงดูดคนที่ไม่เคยรู้จักร้านมาก่อนให้อยากสั่ง เมื่อเห็นโพสต์โปรโมตบนโซเชียลฯ โฆษณา หรือเมนูอาหารบน LINE MAN 

แล้ว “Food Storytelling” หรือการเล่าเรื่องอาหารให้น่าสนใจ จะทำอย่างไรได้บ้าง ไปดูไอเดียกันเลย

Food Storytelling คืออะไร

Food Storytelling คือ การเล่า/สื่อสารความรู้สึกที่เป็นนามธรรมที่เกี่ยวกับอาหาร เช่น ความอร่อย ความรู้สึกดี ความหรูหรา รสชาติต่าง ๆ ออกมาเป็นสิ่งที่คนสามารถเข้าใจร่วมกันได้ แม้ไม่ได้มีประสบการณ์จริง แต่รู้สึกได้ผ่านวิธีการเล่าด้วยภาพ เสียง การบรรยาย กลิ่น ฯลฯ   

โจทย์ของการ ‘เล่าเรื่องอาหารให้รู้สึก’ จะใช้วิธีแปลง “ความอร่อย” หรือ “ความน่ากิน” ของอาหารที่ร้าน รวมไปถึง “ความรู้สึกดี ๆ” ที่จะได้รับจากการมากินอาหารที่ร้าน ให้ออกมาเห็นภาพมากที่สุด เพื่อให้ผู้รับสารหรือคนดู/คนอ่าน นึกถึงความรู้สึกที่เคยรู้สึกมาก่อน แล้วนำมาเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่กำลังอ่านหรือรับชมอยู่ 

ยกตัวอย่างการทำ Food Storytelling 

  • ความกรอบของไก่ทอด: มีรูปเศษแป้งที่กระจายออกมาจากชิ้นไก่ มีควันขึ้นเล็กน้อย ทำให้รู้สึกว่า ไก่ทอดกำลังร้อนและมีความกรอบอร่อย
  • รสชาติมันฝรั่งทอดกรอบรสต้มยำ: บนซองมีรูปตะไคร้ พริกแดงสด มะนาว เป็นรูปประกอบ ช่วยเล่ารสชาติของมันฝรั่งทอดกรอบออกมาว่ามีรสชาติเหมือนต้มยำ
  • ความหอมของกาแฟ: บนถ้วยกาแฟมีควันลอยออกมา นักแสดงกำลังดมกลิ่นและแสดงสีหน้าที่กำลังรู้สึกว่า สิ่งนี้หอม มีเมล็ดกาแฟกองอยู่รอบถ้วยกาแฟ 
  • ความเย็นของเครื่องดื่ม: รูปหยดนำ้ที่เกาะอยู่รอบขวดเครื่องดื่ม

และนอกจากนี้ Food Storytelling จะเป็นการเล่าเรื่องอาหารให้คนรู้สึกถึงรสชาติหรืออุณหภูมิแล้ว การเล่าเรื่องที่มาที่ไปหรือกระบวนการปรุง ก็ยังช่วยยกระดับอาหารให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การบอกเล่าที่มาของอาหาร เช่น ปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ หอยนางรมจากฝรั่งเศส ฯลฯ หรืออธิบายการปรุงที่ซับซ้อน ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่า อาหารต้องอร่อยแน่ ๆ และเห็นถึงความเชี่ยวชาญของเชฟ

Note: ตัวอย่างที่เด่นชัดมาก ๆ ของการใช้ Food Storytelling ในการเพิ่มมูลค่าอาหาร คือ รูปแบบการขายอาหารแบบ “โอมากาเสะ” (Omakase) ที่เล่าเรื่องอาหารตั้งแต่ การลงมือปรุงให้ดู การอธิบายที่มาที่ไปของวัตถุดิบ การแนะนำวิธีรับประทานที่เหมาะสมที่สุด ฯลฯ ลูกค้าเมื่อรับรู้เรื่องราวก็จะยิ่งรู้สึกว่าอาหารที่กำลังทานอร่อยและเลอค่า

ประโยชน์ของการทำ Food Storytelling ให้ร้านอาหาร

  1. ทำให้คนรู้สึกว่าอาหารของร้านอร่อยหรือน่ากิน การเล่าเรื่องหรือบรรยายอาหารออกมาเป็นความรู้สึก จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่าควรสั่งอาหารของร้านหรือไม่ 
  2. ช่วยเพิ่มมูลค่าของอาหาร การเล่าที่มาที่ไปของวัตถุดิบหรืออาหาร รวมไปถึงการอธิบายขั้นตอนการปรุง ช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับอาหาร  
  3. ส่งเสริม Branding และให้ผลเชิงจิตวิทยา ช่วยทำให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือ ดูใส่ใจและมีความเชี่ยวชาญในการปรุงอาหาร รวมไปถึงการรับรู้ที่มาที่ไปของอาหารยังทำให้ผู้ทานหรือลูกค้ารู้สึก ‘อิน’ หรือรู้สึกอร่อยมากขึ้นได้อีกด้วย

แนะนำ 7 เทคนิค Food Storytelling เล่าเรื่องอาหารยังไง ให้ขายดี

สำหรับวิธีการทำ Food Storytelling หรือการเล่าเรื่อง ร้านอาหารสามารถปรับใช้ในการทำคอนเทนต์โปรโมตร้านได้ โดยปรับใช้ได้ทั้งการเขียนเล่าเรื่องอาหาร การทำรูปหรือวิดีโอโปรโมต ฯลฯ

1. อธิบายวัตถุดิบที่ใช้

อธิบายว่าเมนูที่ขายใช้วัตถุดิบหรือส่วนผสมอะไรบ้างในการปรุง จะช่วยทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า เมื่อได้กินจะได้รับรสชาติแบบไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเมนูอาหารที่ชื่อแปลกหูหรือเครื่องดื่มประเภทค็อกเทลที่มีส่วนผสมหลากหลาย 

ไอเดียที่สามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น 

  • การเขียนส่วนผสม/วัตถุดิบไว้ ใต้ชื่อเมนู เช่น อาหารโบราณ ค็อกเทล
  • มีรูปส่วนผสม/วัตถุดิบวางประกอบรูปเมนู 
  • ใช้รูปกราฟิกสื่อสารบนผลิตภัณฑ์ เช่น รูปมะนาวบนฉลากเครื่องดื่ม

2. เล่าตำนานหรือที่มาของเมนู

การเล่าตำนานหรือที่มาของเมนู หรือที่เรียกว่า “สร้างสตอรี” ให้กับเมนูของเรา จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้คนอยากลองเมนูมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความ ‘อิน’ ในการกินอาหาร 

เทคนิคนี้สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ที่มาของสูตรห้อยต่อท้ายชื่อร้านหรือชื่อเมนูได้ ยกตัวอย่างเช่น 

  • เจ้าเก่า / สูตรคุณทวด / สูตรคุณยาย 100 ปี
  • ตำรับไหหลำ / สูตรชาววัง / ตำรับฮ่องกง / สูตรเวียดนาม 
  • ก๋วยจั๊บอุบล / ไก่ยางไม้มะกอก / ผัดไทยรถไฟ

เพียงแค่ห้อยที่มาที่ไปของสูตรอาหารเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความน่าสนใจให้คนอยากลองได้แล้ว 

หรืออีกตัวอย่างการทำ Food Storytelling ที่เล่าสูตรอาหารให้กลายเป็นตำนาน คือ การเล่าที่มาที่ไปของร้าน “ทิพย์สมัย ผัดไทยประตูผี” ที่เล่าเรื่องราวการเปิดร้านผัดไทยย้อนไปถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยผัดไทยถูกนำเสนอให้เป็นอาหารประจำชาติ และยังเป็นร้านที่คิดค้นการใส่กุ้งสดและห่อไข่อีกด้วย 

3. อธิบายสูตรหรือโชว์ขั้นตอนการปรุง

การอธิบายสูตรหรือขั้นตอนการปรุง สามารถทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกร่วมหรือ ‘อิน’ กับอาหารมากขึ้น รู้สึกอยากกินหรือหิวขึ้นมาได้ ซึ่งเทคนิคนี้ เป็นอีกเทคนิคของร้านอาหารที่จัดแบบครัวเปิด เวลาที่ลูกค้ามานั่งในร้านจะได้ยินเสียงเคาะกระทะ กลิ่นการปรุงอาหาร เห็นท่าทางของพ่อครัว ฯลฯ ก็ยิ่งชวนให้รู้สึกหิว ร้านอาหารที่ทำคอนเทนต์สามารถนำเทคนิคมาประยุกต์ใช้ผ่านการทำวิดีโอ ถ่ายขั้นตอนการเตรียมอาหาร หรือถ่ายภาพเอามาเล่าเรื่องเป็นอัลบัมภาพ พร้อมอธิบายขั้นตอนการทำที่พิถีพิถัน

4. ถ่ายรูปที่ช่วยกระตุ้นความรู้สึก

นำเสนอรูปภาพหรือวิดีโอที่ชวนให้นึกถึงความรู้สึกจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหอม อร่อย กรุบกรอบ อุ่นหรือเย็น โดยร้านสามารถใช้องค์ประกอบต่าง ๆ เข้ามาช่วยสื่อสารความรู้สึกเหล่านั้นได้ เพื่อกระตุ้นความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่ลูกค้าเคยรู้สึก

ยกตัวอย่างเช่น 

  • ภาพไข่เจียวในกระทะที่มีน้ำมันเดือด ทำให้รู้สึกว่า ไข่เจียวต้องกรอบอร่อยแน่ ๆ
  • ภาพเทนำ้ซุปก๋วยเตี๋ยวที่มีควันลอยฟุ้ง ทำให้รู้สึกว่า นำ้ซุปหอม 
  • ภาพนำ้ซอสมะเขือเทศมันวาวบนเส้นสปาเก็ตตี ทำให้รู้สึกถึงความฉ่ำ ความมันของเนื้อซอส

นอกจากนี้ ยังมีอีกเทคนิคที่กระตุ้นความรู้สึกของคนที่เห็นภาพหรือดูวิดีโอได้ดีก็คือการใช้ “Face Expression” หรือ “การแสดงสีหน้า” เช่น รูปคนกำลังกินแล้วแสดงสีหน้าว่าอร่อย สีหน้าที่บ่งบอกว่าเปรี้ยวหรือเผ็ด หรืออาจจะเป็นแค่ท่วงท่าในระหว่างกินอาหาร เช่น การตักอาหาร ภาพพูดคุย ฯลฯ ก็ช่วยให้คนดูรูปเกิดความรู้สึกดี ๆ ขึ้นได้ 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: เปลี่ยนรูปถ่ายก็ทำยอดให้ปังได้! ดูตัวอย่างการถ่ายรูปอาหาร 

5. บรรยายความรู้สึกให้จับต้องได้

พยายามบรรยายความรู้สึกออกมาให้จับต้องได้มากที่สุด ผ่านการลงรายละเอียดความรู้สึกทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ยิ่งบรรยายให้เห็นภาพมากเท่าไร ผู้อ่านก็จะรู้สึกได้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น โดยอาจจะใช้เทคนิค Food Storytelling เทคนิคอื่น ๆ มาใช้บรรยายให้จับต้องได้เพิ่มเติม

เทคนิคการบรรยายความรู้สึกให้จับต้องได้

  • อธิบายออกมาเป็นประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ
  • บรรยายจากสิ่งที่สัมผัสก่อน เช่น สิ่งที่เห็น กลิ่นที่ได้ อุณหภูมิและผิวสัมผัส
  • ให้รายละเอียดวัตถุดิบและกระบวนการปรุง
  • ยกตัวอย่างประสบการณ์อื่น ๆ ที่ชวนนึกถึง เช่น รสชาติเหมือนยกทะเลมาไว้ตรงหน้า หอมหวานอบอวลเหมือนบรรยากาศคริสต์มาส 

ยกตัวอย่างเช่น 

น้ำซุปพะโล้สีน้ำตาลทอง (รูป) ได้รสหวานละมุนจากเนื้อเป็ดและเครื่องตุ๋น (รส) หอมเครื่องเทศจีนที่ใช้เวลาตุ๋นถึง 12 ชั่วโมง (กลิ่น + กระบวนการปรุง) เมื่อได้ซดจะรู้สึกถึงความนุ่มลื่น ละมุน ไม่บาดคอ (สัมผัส) สูตรต้นตำรับเหมือนไปนั่งรับประทานในภัตตาคารที่ฮ่องกง (ยกตัวอย่างประสบการณ์)

6. นำเสนอตัวตนของร้าน

อีกหนึ่งเทคนิคทำ Food Storytelling ที่น่าทำ คือ การนำเสนอตัวตนของร้านให้เป็นที่จดจำ ให้ผู้คนรับรู้ว่า ร้านของเราเป็นแบบไหน ทำอะไรอร่อย เมื่อต้องการกินสิ่งนี้จะต้องนึกถึงร้านของเราเป็นร้านแรก (Top of Mind) 

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนึกถึงผัดไทย ก็จะนึกถึง “ทิพย์สมัย ผัดไทยประตูผี” เมื่อนึกถึงเครปก็จะนึกถึง “ป้าเฉื่อย” ฯลฯ ซึ่งกลยุทธ์ที่ร้านเหล่านี้ใช้ คือ การสร้าง Personal Brand หรือสร้างตัวตนของแบรนด์ขึ้นมา เพื่อให้คนรู้จักและจดจำแบรนด์ได้ง่าย ผ่านเอกลักษณ์ของเจ้าของร้านและความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำ หรืออาจเลือกหยิบจุดเด่นจองร้านออกมาเล่าเน้นย้ำบ่อย ๆ เช่น เล่าถึงอาหารจานเด็ดของร้านบ่อย ๆ ทำคอนเทนต์ให้ความรู้ในสิ่งที่เชี่ยวชาญ

อ่านเพิ่มเติม: Personal Branding ตัวช่วยทำธุรกิจร้านอาหาร มัดใจลูกค้า 👈 บทความนี้

7. ให้ลูกค้าช่วยเล่าเรื่องให้แทน

ลูกค้ามักจะเชื่อลูกค้าด้วยกันเอง มากกว่าการที่ร้านพูดจุดเด่นและข้อดีของตัวเองอยู่แล้ว… 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโลกออนไลน์ ผู้คนสามารถเข้าถึงรีวิวร้านได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Google My Business เพจรีวิวร้านอาหาร หรือบน Wongnai และกล่าวได้ว่า รีวิวจากลูกค้าด้วยกันเอง คือ สิ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจมากินอาหารของร้านมากที่สุด

ร้านสามารถส่งเสริมให้ลูกค้าช่วยรีวิวร้านได้ผ่านวิธีต่าง ๆ ตั้งแต่

  • ขอให้ลูกค้าช่วยรีวิวให้ตรง ๆ และขอบคุณเขา (เมื่อเขารู้สึกประทับใจ)
  • นำเสนอส่วนลดหรือให้เมนูสมมนาคุณเป็นการแลกเปลี่ยน
  • เปิดช่องทางให้รีวิว เช่น โซเชียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ, Google My Business, Wongnai

เมื่อมีรีวิวจากลูกค้า ร้านสามารถนำมาแชร์ต่อเป็นการโปรโมตร้านอีกต่อได้ 

ในยุคนี้ คนจะรู้จักร้านอาหารร้านหนึ่ง ส่วนใหญ่จะรู้จักร้านผ่านโซเชียลมีเดียหรือช่องทางอื่น ๆ บนโลกออนไลน์ เป็นเรื่องยากที่ร้านอาหารจะสื่อสารว่า อาหารหรือเมนูเครื่องดื่มของร้านน่ากิน อร่อย ฯลฯ สิ่งที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ จึงเป็นการ ‘เล่าเรื่องอาหาร’ ให้เขารู้สึกหรือการทำ Food Storytelling ที่รวบรวมไว้ในบทความนี้ 

หวังว่า ร้านของคุณจะสามารถเล่าเรื่องอาหารจนทำให้ลูกค้าอยากตามมากินที่ร้านได้เยอะ ๆ 

เริ่มต้นเปิดร้านบน LINE MAN คลิกเลย

ยังมีบทความความรู้เกี่ยวกับร้านอาหารที่คุณอาจจะสนใจอีก ลองดูด้านล่างนี้