Personal Branding ตัวช่วยทำธุรกิจร้านอาหาร มัดใจลูกค้า

หนึ่งในร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่จดจำอย่างเครปป้าเฉื่อย หรือหมูทอดเจ๊จง ก็คงหนีไม่พ้น “ตัวตนของเจ้าของร้าน” หรือในภาษาการตลาดที่เรียกกันว่า “Personal Branding” ซึ่งหมายถึงการสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักและให้คนรับรู้ว่า แบรนด์หรือคนคนนี้เชี่ยวชาญด้านอะไร

สำหรับร้านอาหารร้านอื่น ๆ เอง ก็สามารถใช้เทคนิคการสร้างตัวตนให้เป็นแบรนด์ หรือทำ Personal Branding ให้ร้านเป็นที่รู้จักได้เช่นเดียวกับเจ๊จง ป้าเฉื่อย และอีกหลาย ๆ คนได้ โดยบทความนี้ถอดกลยุทธ์การสร้าง Personal Brand ของร้านอาหารดัง มาแชร์เป็นเทคนิคให้กับเจ้าของร้านอาหาร

ข้อดีของ Personal Branding สำหรับร้านอาหาร

การทำ Personal Branding ต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างแบรนด์กว่าที่คนจะจดจำได้ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของการที่ผู้คนจดจำตัวตนแบรนด์ได้นั้นยั่งยืนและคุ้มค่ากว่าการทำการตลาดเป็นครั้ง ๆ ไป

  • สร้างภาพลักษณ์แบรนด์ได้ง่ายกว่า คนรับรู้แบรนด์ได้ง่ายกว่าจากบุคลิก ลักษณะ หรือหน้าตาของเจ้าของแบรนด์ คนจดจำได้ โดยที่ไม่ต้องใช้กลยุทธ์อื่น ๆ ในการสื่อสารแบรนด์
  • เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและลูกค้าได้ง่ายกว่า แบรนด์ที่มีตัวตนที่เป็นคนจริง ๆ ผู้คนจะรู้สึกเข้าถึงได้ง่ายกว่า เหมือนทำความรู้จักคน รู้ว่ากำลังพูดหรือปฏิสัมพันธ์กับใคร
  • ช่วยสร้างความไว้วางใจให้ลูกค้า ผู้คนจะเชื่อถือร้านจากเจ้าของที่อาจมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ถนัดอาหารอิตาเลียน ถนัดของหวาน ฯลฯ นอกจากนี้ การที่มีหน้าเจ้าของร้านออกมาในสื่อ ยังช่วยยืนยันว่า เมื่อเกิดอะไรขึ้น จะมีคนรับผิดชอบ 
  • ช่วยดึงดูดลูกค้า รวมไปถึงพาร์ทเนอร์ธุรกิจ การทำ Personal Branding ทำให้คนรู้จัก เห็นการทำงานและความเชี่ยวชาญของเจ้าของร้านมากขึ้น ทำให้เชื่อถือและอยากมาลอง นอกจากนี้ ยังสร้างความเชื่อถือให้กับคนที่อยากมาร่วมงานด้วย 
  • ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ร้านสามารถขายความเชี่ยวชาญหรือเอกลักษณ์ของเชฟหรือเจ้าของร้านได้ เพราะไม่สามารถหาทานได้จากที่อื่น
  • ความยั่งยืนให้กับแบรนด์ การทำ Personal Branding ทำให้ภาพจำหรือความเชี่ยวชาญอยู่กับตัวตน เมื่อเจ้าของแบรนด์ต้องการต่อยอดธุรกิจ แบรนด์ดิ้งและความเชื่อถือก็จะติดตัวเจ้าของแบรนด์ไปด้วย

ตัวอย่าง Personal Brand จากร้านอาหารชื่อดัง

เครปป้าเฉื่อย

เครปป้าเฉื่อย ซึ่งคำว่า “ป้าเฉื่อย” ก็คงหนีไม่พ้นอัตลักษณ์ของ “ป้าหลี” เจ้าของร้านที่ตั้งใจประณีตทำเครปแต่ละชิ้น จนใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ด้วยสูตรแป้งที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยและไส้เครปที่ให้มาอย่างไม่หวงของ ทำให้มีหลายคนเต็มใจต่อแถวรอเป็นชั่วโมง 

การสร้าง Personal Branding ที่น่าสนใจของป้าเฉื่อย คือ การย้ำภาพจำอยู่ตลอด ไม่ว่าจะผ่านบุคลิกลักษณะของป้าหลี กระบวนการทำเครปที่ประณีตใช้เวลา ชื่อร้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโลโก้รูปป้าเฉื่อยบนซองใส่เครปที่เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของหลาย ๆ คน ที่อยากมาซื้อเครปร้านนี้เพื่อถ่ายลงโซเชียลมีเดียว่า ได้มารอและได้กินเครปป้าเฉื่อยแล้ว

Penguin Eat Shabu

ร้านชาบูที่มีโลโก้น่ารัก เข้าถึงง่าย และจดจำง่าย ซึ่งนอกจากตัวของร้านแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้จักร้านก็คือ รู้จักร้านจากเจ้าของ อย่าง คุณต่อ เพจ Torpenguin - ผู้ชายขายบริการ ที่นำเสนอตัวตนให้มีแบรนด์ดิ้งเรื่องธุรกิจร้านอาหาร

คุณต่อจะโพสต์และให้ความรู้เกี่ยวกับ การทำธุรกิจร้านอาหารในแง่มุมต่าง ๆ ไม่เพียงแค่การขายชาบู และเพจ Personal Branding แยกกับเพจร้านอาหาร “Penguin Eat Shabu - เพนกวินกินชาบู” แต่ทั้งสองเพจกลับสนับสนุนกัน เปิดโอกาสให้คนรู้จักร้านและเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับคุณต่อ 

After Yum (อาฟเตอร์ยำ)

ร้าน After Yum (อาฟเตอร์ยำ) ร้านยำชื่อดังที่หลาย ๆ คนรู้จัก เป็นอีกร้านที่ Personal Branding มีเอกลักษณ์ชัดเจนมาก โดยสิ่งที่ “คุณแต๋ง” และ “คุณดุจดิว” ทำ จะเน้นไปที่การสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองให้ดูสนุกสนาน เข้าถึงง่าย 

อย่าง การประกาศกฎระเบียบเพื่อแจ้งให้ลูกค้าที่มารับประทานยำทราบ ที่กลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของร้าน และกลายเป็น ‘โชว์’ ที่ใครต่อใครมาทานที่ร้านก็ต้องถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ เพื่ออัพลงในโซเชียลมีเดียของตนเอง จนกลายเป็นกระแสทำให้คนอยากมาทานเรื่อย ๆ 

หมูทอดเจ๊จง

ร้านหมูทอดเจ๊จง หมูทอดร้อยล้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังย่านคลองเตย “เจ๊จง” นำเสนอตัวตนด้วยการแชร์เรื่องราวที่ต้องฝ่าอุปสรรคกว่าจะประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ ตามสื่อต่าง ๆ ที่ทำให้หลาย ๆ คนเกิดแรงบันดาลใจ 

รวมถึงบุคลิกความเป็นคนมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือ จนกลายเป็นที่รักใคร่ ทำให้ลูกค้าติดใจและอยากแวะเวียนมาทานที่ร้าน ก็เป็นหนึ่งในการทำ Personal Branding ที่ช่วยให้ผู้คนจดจำได้

อยากทำ Personal Branding ให้ร้านอาหาร จะต้องทำยังไงบ้าง 

1. หาเอกลักษณ์หรือความเชี่ยวชาญของตัวเองให้เจอ

พยายามหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งบุคลิกลักษณะหรือคาแรกเตอร์หรืออาจจะเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ยกตัวอย่างเช่น 

  • เจ๊จง มีจุดเด่นที่ขึ้นชื่อเรื่อง “หมูทอด” และมีภาพจำ คือ ภาพลักษณ์ที่จริงใจ
  • เครปป้าเฉื่อย (ป้าหลี)  จุดเด่นอยู่ที่การใช้เวลานานในการทำเครปอย่างประณีต ขึ้นชื่อว่าสูตรแป้งอร่อยเป็นพิเศษ มีภาพลักษณ์ที่เป็นคุณป้าใจเย็น 

เจ้าของร้านอาจเลือกหยิบคาแรกเตอร์บางมุมของตัวเองขึ้นมานำเสนอหรืออาจจะเป็น “ตัวตน” ที่สร้างขึ้นมาเพื่อนำเสนอแบรนด์โดยเฉพาะ เช่น เจ๊แขกที่ลุกขึ้นมาแต่งตัวให้โดดเด่นเมื่อออกมาเปิดร้าน เพราะภาพลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างจะช่วยให้ผู้คนจดจำตัวตนของแบรนด์ได้ทันที 

2. เลือกกลุ่มเป้าหมาย

กำหนดกลุ่มเป้าหมายของร้านให้ชัด ว่าร้านต้องการเข้าถึงใคร อยากได้ใครเป็นลูกค้า ซึ่งถ้าเมื่อกำหนดได้ ร้านจะได้วางแผนนำเสนอตัวตนในบุคลิกและเรื่องราวให้สอดคล้องไปกับความสนใจของพวกเขา โดยวิธีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายก็เลือกได้จากหลากหลายปัจจัย เช่น อายุ ความสนใจ สัญชาติ อาชีพ หรือฐานรายได้ก็ได้ 

ยกตัวอย่างกลุ่มเป้าหมายเช่น 

  • นักเรียน วัยรุ่น ตั้งแต่อายุ 15 ปี - 25 ปี 
  • คนที่สนใจวัฒนธรรม K-Pop 
  • พนักงานออฟฟิศ เจ้าของธุรกิจ SME คนทำธุรกิจร้านอาหาร
  • คนที่สนใจการทำธุรกิจ
  • คนที่ชอบถ่ายรูป ชื่นชอบการออกไปถ่ายรูปที่คาเฟ่
  • คนวัยทำงานที่มีรายได้ 20,000 บาท ขึ้นไป   
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติ

เทคนิคในข้อนี้ อาจคิดไปพร้อม ๆ กับการเลือกนำเสนอตัวตนหรือนำเสนอคอนเทนต์ให้สอดคล้องไปกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย

3. นำเสนอตัวตนให้เป็นที่รู้จัก

ร้านสามารถสร้าง Personal Branding ด้วยการนำเสนอตัวตนให้คนรู้จักผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Facebook, Instagram, Twitter, TikTok ฯลฯ 

สำหรับแนวทางในการนำเสนอตัวตน อาจเป็นการหยิบยกเรื่องราว ข้อคิดเห็นส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับร้าน/ธุรกิจออกมานำเสนอ โดยอาจบิดมุมในการเล่าหรือการนำเสนอให้สอดคล้องกับ ‘จริต’ หรือความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มที่ชื่นชอบวัฒนธรรม K-Pop นอกจากแชร์และพูดคุยเกี่ยวกับร้านตัวเองแล้ว อาจแชร์คอนเทนต์ K-Pop มาพูดคุยกับผู้ติดตามก็ได้

ทั้งนี้ คำแนะนำในข้อนี้ เป็นเพียงแนวทางในการนำเสนอเท่านั้น หากเป็นตัวเองเต็มที่ มีบุคลิกและความสนใจชัดเจน เชื่อว่า ผู้คนจะจดจำได้ในเวลาไม่นาน ที่เหลือจึงเป็นเรื่องของการคิดและทำคอนเทนต์เพื่อนำเสนอ

4. ทำคอนเทนต์ที่ส่งเสริม Personal Branding

การโปรโมตร้าน โปรโมตเมนู นำเสนอโปรโมชันอย่างเดียว คงไม่เรียกว่าการทำ Personal Branding เพราะผู้ติดตามคนไม่ได้ติดตามเพราะอยากรู้โปรโมชันหรือรู้ว่าขายอะไรเท่านั้น แต่เขาอยากรู้จัก ‘คน’ คนนี้ ในแง่มุมอื่น ๆ ด้วย ทั้งในมุมส่วนตัวและคุณค่าที่สามารถให้กับผู้ติดตามได้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ แรงบันดาลใจ หรือความบันเทิงก็ตาม

แนวทางคอนเทนต์ที่น่าทำเพื่อสร้างแบรนด์ดิ้งให้ตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น

  • นำเสนอไลฟ์สไตล์ส่วนตัว ซึ่งอาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร (แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่ทำ) เช่น อาหารที่กิน กิจกรรมที่ชอบ หนังหรือเพลงที่กำลังอิน แสดงความคิดเห็นในประเด็นที่สังคมกำลังสนใจ
  • นำเสนอความเชี่ยวชาญ เช่น โชว์สกิลทำอาหาร ให้ความรู้ในด้านที่เชี่ยวชาญ  เล่าเบื้องหลังการทำงาน 
  • แชร์แรงบันดาลใจ เช่น ให้กำลังใจคนที่ทำงานในสายเดียวกัน เล่าเรื่องราวการต่อสู้กว่าจะมาเป็นร้าน 
  • แชร์หรือพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่สนใจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแนวทางธุรกิจ/เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ขาย พูดคุยกับคนในวงการหรือมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน

สำหรับรูปแบบก็สามารถเลือกทำตามที่ถนัดได้ แล้วค่อย ๆ ขยายรูปแบบคอนเทนต์ให้หลากหลาย เช่น โพสต์ข้อความชวนพูดคุย ทำวิดีโอสั้นให้ความรู้ ทำไลฟ์สดพาดูร้าน/ขั้นตอนการปรุงอาหาร ทำรูปอัลบัมให้ความรู้ในเรื่องที่สนใจ โพสต์รูปกิจกรรมที่ทำ ฯลฯ 

5. สื่อสารตัวตนอย่างต่อเนื่อง

เรื่องของตัวตนที่ชัดเจนและเป็นที่จดจำ เกิดจากการที่คนคนหนึ่งนำเสนอบุคลิกหรืออัตลักษณ์ซำ้ ๆ ย้ำจนคนจำได้ หรือหากต้องการให้คนรับรู้ว่าร้านเชี่ยวชาญเรื่องอะไร ก็ต้องพูดคุยหรือแชร์คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ ให้ผู้ติดตามรู้ว่า เมื่อติดตามแล้วเขาจะได้รับอะไร

การทำ Personal Branding ไม่ใช่แคมเปญการตลาดที่ทำขึ้นเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นยอดขายในชั่วข้ามคืน แต่เป็นการลงทุนสร้างความยั่งยืนให้กับร้าน ซึ่งสุดท้ายแล้วจะสร้างประโยชน์ให้กับร้านได้ยาวนาน ทั้งดึงดูดลูกค้า สร้างความน่าเชื่อถือ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าในร้าน หรือรวมไปถึงความน่าเชื่อถือที่ติดตัวเจ้าของร้านไป ช่วยต่อยอดโอกาสทางธุรกิจอื่น ๆ 

เริ่มต้นเปิดร้านบน LINE MAN คลิกเลย

ยังมีบทความสาระความรู้การตลาดร้านอาหารอีกเพียบ เลือกอ่านต่อที่นี่